วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

โดราเอมอน เหตุใดแมวญี่ปุ่นจึงครองใจเด็กไทย

มีใครไม่รู้จัก โดราเอมอน บ้างขอรับ … ช่วยบอกหน่อย … ถ้านับดูแล้ว โดราเอมอนนี่ก็น่าอยู่ในวัยกลางคน แต่ถึงปัจจุบัน เจ้าแมวจอมยุ่งก็ยังเป็นที่นิยมของเด็กๆ จนกลายเป็นตัวการ์ตูนที่เป็นอมตะไปเสียแล้ว


ท่านคงเคยได้อ่านบทวิเคราะห์ถึงการ์ตูนอมตะเรื่องนี้มาหลายต่อหลายหน จากนักวิชาการและกูรูมากมาย มีอยู่ท่านหนึ่งที่ผมพอจะรู้จัก เพราะเป็นอาจารย์ของผมเองเมื่อครั้งร่ำเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่าน รศ.ดร. ทัศนา สลัดยะนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันท่านเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านเคยเขียนบทความวิเคราะห์เรื่องราวของโดราเอมอนตีพิมพ์ลงในวารสาร โลกหนังสือ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นตอนที่เจ้าโดราเอมอนกำลังบูมสุดขีดในบ้านเรา ตอนนั้นจำได้ว่าโดราเอมอนมีอิทธิพลต่อคนไทยอย่างมาก ไม่เพียงเฉพาะเด็กๆ แต่ลามไปถึงคนไทยทุกคน ทุกวงการ แม้เวลาจะผ่านมา ๓๐ กว่าปี เจ้าแมวจอมยุ่งก็ยังยืนหยัดสู้กระแสวัฒนธรรมอันหลากหลายที่ถาโถมเข้ามา เช่นเดียวกับบทความของอาจารย์ทัศนาที่ผมเชื่อว่าก็ยังคงความน่าสนใจ จึงขอนำบางส่วนของบทความดังกล่าวมาเรียบเรียงใหม่และขอนำมาเสนอ ณ ที่นี้
ทัศนา สลัดยะนันท์. โดราเอมอน เหตุใดแมวญี่ปุ่นจึงครองใจเด็กไทย. ใน โลกหนังสือ, ๖ : ๓๙-๔๔. กรุงเทพ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๒๖.

… โดราเอมอน เริ่มเข้ามาสู่เมืองไทยครั้งแรกราวปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ในรูปแบบของหนังสือการ์ตูนและภาพยนตร์การ์ตูน ออกฉายเป็นตอนๆ ทางช่อง ๙ อ.ส.ม.ท. หรือวีดิโอเทปให้เช่าและจำหน่ายทั่วไป ตอนนั้นทำเอาทั้งประเทศคลั่งไคล้เจ้าแมวสีฟ้าตัวนี้กันใหญ่ ในรูปแบบหนังสือการ์ตูน ช่วงนั้นยังไม่มีการเคร่งครัดในเรื่องของลิขสิทธิ์มากนัก ช่วงนั้น (ปี ๒๕๒๕) มีอย่างน้อย ๗ สำนักพิมพ์ตีพิมพ์ออกมาจำหน่าย โดยใช้ชื่อต่างๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็น โดราเอมอน โดเรมอน โดรามอน

สำนักพิมพ์มิตรไมตรี (น่าจะเป็นสำนักพิมพ์แรกที่ตีพิมพ์โดราเอมอนอย่างถูกต้อง / ผู้เขียน blog) ได้นำเรื่องราวที่มาที่ไปของโดราเอมอนมาตีพิมพ์ไว้ใน “โดเรมอน แมวจอมยุ่ง” เล่มที่ ๑๙  ว่าเจ้าของผลงานชิ้นนี้คือ นายฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ และ อะบิโกะ โมโตโอะ ร่วมกันเขียนโดยใช้นามปากกาว่า ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ โดยได้ไอเดียมาจากตุ๊กตาล้มลุกและแมวมาผสมกัน แล้วตั้งชื่อว่า โดราเอมอน มาจากคำว่า โดรา แปลว่า ไม่มีเจ้าของ, ถูกทอดทิ้ง และคำว่า เอมอน ที่ใช้ยกย่องนักรบญี่ปุ่นโบราณ กลายเป็นโดราเอมอน ที่หมายถึง คนดีที่ไม่มีเจ้าของ หรือคนเก่งที่ถูกทอดทิ้ง

จากเนื้อเรื่องตอนนี้เล่าว่าผู้เขียนกำลังประสบความยุ่งยากในการสร้างสรรค์ตัวการ์ตูนตัวใหม่ ขณะที่กำลังกลุ้มใจอยู่นั้นเขาก็เจอแมวไม่มีเจ้าของแถวบ้านหลงเข้ามา เขาจึงเล่นกับมันแก้เซ็งและหาเห็บให้ด้วยความเมตตา หลังจากนั้นมันก็เดินไปสะดุดเข้ากับตุ๊กตาล้มลุกของลูกสาว นี่เองจึงเป็นการจุดประกายให้เขาเกิดไอเดียเอาแมวกับตุ๊กตาล้มลุกมาผสมกัน ผนวกกับจินตนาการที่อิงเทคโนโลยีจนได้เป็นหุ่นยนต์แมวตัวกลมๆ ที่มาจากโลกอนาคต มีกระเป๋าที่หน้าท้องที่เก็บของวิเศษนานาชนิด

อาจารย์ทัศนาให้ความเห็นว่า โดราเอมอน เป็นการ์ตูนประเภทเฟื่องฝัน (Fantasy) โดยท่านเล่าว่าโดราเอมอนนั้นเดินทางมาจากโลกอนาคตเพื่อมาคอยช่วยเหลือ โนบิตะ เด็กประถมที่ไม่เอาไหน โดยเจ้าโดราเอมอนหอบเอาของวิเศษต่างๆ มาใช้คอยช่วยเหลือโนบิตะ ของที่ว่านั้นบรรจุไว้ในกระเป๋าที่หน้าท้อง โดยผู้เขียนจินตนาการว่าเป็นกระเป๋ามิติที่สี่ สามารถใส่ของที่มีขนาดหรือน้ำหนักมากๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ แล้วของข้างในก็จะเป็นของวิเศษที่แตกต่างกันไปในแต่ละตอน บางชนิดก็ไม่สมเหตุสมผล อย่างเช่นสเปรย์ฉีดรูปภาพให้ออกมาจากกระดาษและเคลื่อนไหวได้ น้ำยาที่ทำให้สิ่งของพูดได้ แต่ของวิเศษที่ว่าบางชิ้นก็อิงวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องมองย้อนอดีต เครื่องสร้างพายุไต้ฝุ่น หรือคอปเตอร์ไม้ไผ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น